9 ธันวาคม 2566
เริ่มจากคิดทำกิจกรรมวิชาการให้ กนศ.ร.
ข้อมูลนี้ดัดแปลงจากเอกสารชื่อ ประวัติ "อาสาวิชาการ" (Volunteer Academy: ASA) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียบเรียงโดย ชุติเดช เมธีชุติกุล (พี่หม่อน สิงห์แดง 63) หนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งอาสาวิชาการ
กลุ่มกิจกรรมอาสาวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ “Volunteer Academy” หรือ ใช้ตัวย่อว่า “ASA” ถูกก่อตั้งขึ้นโดยการริเริ่มของ ชุติเดช เมธีชุติกุล ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นอนุกรรมการฝ่ายวิชาการของคณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กนศ.ร.) ประจำปีการศึกษา 2555 จุดประสงค์แรกในการก่อตั้งนั้นเพื่อเป็นที่รวมของกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องวิชาการ เพื่อที่จะเสนอรูปแบบ หัวข้อ และกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ให้กับ กนศ.ร. เพราะอนุกรรมการฝ่ายวิชาการของ กนศ.ร. ตอนนั้นมีเพียงแค่ 2 คน ทำให้ความคิดเกี่ยวกับการทำกิจกรรมวิชาการอาจไม่หลากหลายพอ และด้วยได้เห็นรูปแบบโครงสร้างการบริหารงานของฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสโมสรนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งฝ่ายวิชาการจะมีชุมนุมในสังกัดเพื่อทำงานวิชาการให้กับทางสโมสรฯ ฉะนั้นจึงนำโมเดลนี้มาใช้เพื่อตั้งกลุ่มวิชาการที่ขึ้นตรงกับ กนศ.ร. ในลักษณะที่เป็นกลุ่ม Think Tank ด้านวิชาการให้กับ กนศ.ร.
ในช่วงแรกของการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มนั้นจะอิงไปกับงบประมาณของ กนศ.ร. เป็นหลัก แต่กระนั้นกลุ่มได้รับงบประมาณอีกช่องทางหนึ่งจากเงินบริจาคเพื่อนำมาใช้สำหรับการจัดกิจกรรมนักศึกษาจาก Alfred Stepan (July 22, 1936 – September 27, 2017) นักวิชาการด้านการเมืองเปรียบเทียบ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือน (Civil–military relations; CMR) จาก Columbia University ได้มาบรรยายพิเศษในการสัมมนา เรื่อง Building Democracies in Deeply Diverse Polities: India, Sri Lanka and Myanmar ในวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 14.00-16.30 น. ณ ห้อง ร.102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งตอนนั้น ชุติเดช เมธีชุติกุล อยู่ในงานสัมมนาด้วย และ ผู้ดำเนินการสัมมนาคือ อ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ ทางคณะฯ ได้มอบค่าตอบแทนการบรรยายให้ Alfred Stepan เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,000 บาท แต่ Alfred Stepan อยากจะบริจาคให้กิจกรรมนักศึกษา อ.จันจิรา เลยแนะนำให้ Alfred Stepan บริจาคให้กับ ชุติเดช เมธีชุติกุล และนั่นคืองบประมาณแรกที่นำมาใช้สนับสนุนกิจกรรมของกลุ่มอาสาวิชาการ
ต่อมาในปีการศึกษา 2556 ชุติเดช เมธีชุติกุล ได้เป็นรองประธาน กนศ.ร. จึงได้ผลักดันให้กลุ่มอาสาวิชาการได้ทำกิจกรรมวิชาการมากขึ้น และด้วยการสนับสนุนของ อ.ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสัมมนาวิชาการของคณะ ก็ได้ดึงงบประมาณของฝ่ายสัมมนาวิชาการมาให้กลุ่มได้คิดจัดงานวิชาการขึ้น
ประกอบกับในปีนั้น เนื่องจาก อ.ชญานิษฐ์ ต้องลาไปศึกษาต่อ และ อ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ จึงเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน อ.ดร.จันจิรา ได้มีส่วนอย่างมากที่ช่วยผลักดันให้กลุ่มอาสาวิชาการได้จัดกิจกรรมวิชาการหลายอย่างทั้งงานเสวนา และงานประชุมวิชาการ ซึ่งในช่วงก่อนที่ อ.ชญานิษฐ์ จะลาไปศึกษาต่อ ก็ได้คิดริเริ่มที่จะจัดเวทีการนำเสนอผลงานให้กับนักศึกษาของคณะ เพราะผลงานหรือ Paper แต่ละวิชาเป็นผลงานที่ดีที่ควรได้รับการเผยแพร่และเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป และเป็นการเชิดชูผลงานของผู้เขียน และเกียรติที่ผู้เขียนควรได้รับจากความอุตสาหะพยายามต่าง ๆ ในการทำผลงานชิ้นดังกล่าว และในที่สุดก็ออกมาใน รูปแบบ โครงการสัมมนาบทความนักศึกษารัฐศาสตร์ ปีพ.ศ.2556 (The 2013 Political Science Students Symposium)
ต่อมาในปีการศึกษา 2557 ด้วยระบบการทำงานของ กนศ.ร. ที่เน้นจัดกิจกรรมที่ไม่ใช่วิชาการตลอดทั้งปีการศึกษาทำให้ฝ่ายวิชาการต้องไปช่วยทำงานดังกล่าวด้วย ซึ่งลดทอนเวลาและพลังในการที่จะคิดกิจกรรมวิชาการอย่างมาก ถึงที่สุดก็คือโครงสร้างการทำงานของ กนศ.ร. ไม่ได้ตอบโจทย์รูปแบบการทำงานเกี่ยวกับกิจกรรมวิชาการเท่าที่ควร จึงได้ออกจากการสังกัด กนศ.ร. มาเป็นกลุ่มอิสระ และได้มีการดำเนินการเพื่อก่อตั้งเป็นกลุ่มกิจกรรมของคณะ และใน วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2557 รศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะนั้นได้ลงนามแต่งตั้งกลุ่มอาสาวิชาการเป็นกลุ่มกิจกรรมของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างเป็นทางการ ซึ่งหากยึดตามการตั้งกลุ่มอย่างเป็นทางการแล้ว ประธานคนแรกของกลุ่มก็คือ ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก และมี กิตติทัช พันธุ์เปรม เป็นรองประธานกลุ่ม
ก่อตั้ง "กลุ่มกิจกรรมอาสาวิชาการ"
เมื่อก่อตั้งเป็นกลุ่มกิจกรรมอาสาวิชาการ ค่ายที่อาสาวิชาการจัดคือ ASA Youth Camp เป็นค่ายเกี่ยวกับการลงพื้นที่ให้ความรู้น้อง ๆ ในโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อเตรียมพร้อมน้อง ๆ สู่การที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียน โดยจัดครั้งแรกในปีการศึกษา 2556 ระหว่างวันที่ 14–16 กุมภาพันธ์ 2557 ณ โรงเรียนวัดโพธาราม จ.ชัยนาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยโครงการคุณธรรมของมหาวิทยาลัย โดยมี อ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ประสานงานและได้รับงบประมาณจากสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ผ่านทางชมรมอเมริกันศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ทางคณะเองก็ให้งบสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว และโครงการนี้ก็ถูกส่งทอดมาเป็นกิจกรรมประจำของกลุ่มอาสาวิชาการต่อไป
ค่าย ASA Youth Camp ในปี พ.ศ. 2562
ปลายปี พ.ศ. 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นทั่วโลก ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป การไปมาหาสู่หยุดชะงัก นักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ และยังส่งผลให้รูปแบบการทำกิจกรรมของอาสาวิชาการเป็นรูปแบบออนไลน์ ขณะเดียวกันค่ายให้ความรู้กับน้อง ๆ จึงเลือนหายไปในช่วงเวลาดังกล่าว
เสวนาออนไลน์ช่วงโควิด-19 ในหัวข้อ Star wars กับการมองบริบทการเมืองร่วมสมัย
MAKE ASA กรี๊ด AGAIN
ปีการศึกษา 2565 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลับมาเปิดพื้นที่เรียนออนไซต์อีกครั้ง อาสาวิชาการ 2565 จึงเริ่มต้นขึ้น เปิดตัวมาด้วยประโยค Make ASA กรี๊ด again ซึ่งล้อกับประโยคที่โดนัลด์ ทรัมป์ใช้หาเสียงลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลานั้น โดยอาสาวิชาการในปีการศึกษานี้ได้ทำกิจกรรมหลายอย่างที่เป็นลักษณะของการบริการเพื่อนนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น เช่น การตั้งวงคุยเรื่องภาพยนตร์ที่สอดแทรกสาระทางสังคม การจัดงานบอร์ดเกมประชาธิปไตย และการจัด workshop เรื่องกระจายอำนาจ รวมถึงค่ายระดมความคิดนโยบายสาธารณะในชื่อ Singhadang Policy Maker Camp
อาสาวิชาการ 2566 ซึ่งเป็นรุ่นปัจจุบันเริ่มต้นปีการศึกษาด้วย workshop และเสวนา ก้าวถัดไป รัฐธรรมนูญไทยฉบับประชาชน และได้มีกิจกรรมบริการเพื่อนนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น รีวิววิชาโท รีวิวฝึกงาน และหนึ่งกิจกรรมที่กำลังจะมีภาคต่อเร็ว ๆ นี้ คือ Singhadang Policy Maker Camp ปีที่ 2 โปรดรอติดตาม
ค่ายนโยบาย Singhadang Policy Maker Camp ถ่ายเมื่อ 25 มีนาคม 2566
ก้าวถัดไปรัฐธรรมนูญไทยฉบับประชาชน กิจกรรมแรกของอาสาวิชาการ 66